วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

อารยธรรมโรมัน


 

 อารยธรรมโรมัน


 
            อารยธรรมโรมันมีศูนย์กลางอยู่ที่แหลมอิตาลี เป็นอารยธรรมของพวกอินโด-ยูโรเปียนเผ่าละติน (Latin) ซึ่งอพยพจากทางตอนเหนือมาตั้งถิ่นฐานในแหลมอิตาลีเมื่อประมาณ 1000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และเรียกตัวเองว่า โรมันพวกโรมันได้ขยายอิทธพลเข้าครอบครองดินแดนที่เป็นศูนย์กลางความเจริญของอารยธรรมเฮลเลนิสติกซึ่งสลายเมื่อประมาณปี 146 ก่อนคริสต์ศักราช และดินแดนอื่นๆ ทั้งในยุโรปและแอฟริกาเหนือ ทำให้อารยธรรมของโลกตะวันออกซึ่งผสมผสานอยู่ในอารยธรรมกรีกได้ขยายเข้าไปในทวีปยุโรป และเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกในปัจจุบัน
        1.ปัจจัยส่งเสริมการขยายอำนาจของจักรวรรดิโรมัน

     จักรวรรดิโรมันขยายอำนาจที่ยิ่งใหญ่เหนือดินแดนต่างๆ นานหลายร้อยปี โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการขยายอำนาจของโรมันคือ สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลี ระบอบการปกครอง และกองทัพโรมัน



          สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลี แหลมอิตาลีตั้งอยู่กึ่งกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างคาบสมุทรบอลข่านและคาบสมุทรไอบีเรีย ซึ่งสะดวกต่อการติดต่อกับเอเชียไมเนอร์และยุโรปตอนใต้ นอกจากนี้รูปร่างของแหลมอิตาลียังเปรียบเสมือนรองเท้าบูตที่ยื่นเข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทำให้สามารถติดต่อกับดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยเฉพาะตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อนึ่ง ตอนเหนือของแหลมอิตาลีแม้จะมีเทือกเขาแอลป์ (Alps) ขวางกั้นแต่ชาวโรมันก็สามารถติดต่อกับดินแดนตอนกลางของยุโรปได้ไม่ยากนักเนื่องจากมีช่องเขาที่สามารถเดินทางผ่านได้ นอกจากนี้ชายฝั่งทะเลที่ยาวเหยียดของแหลมอิตาลีก็ช่วยให้ชาวโรมันติดต่อกับดินแดนอื่นๆได้สะดวก ลักษณะที่ตั้งดังกล่าวแม้จะเคยเป็นจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้ศัตรูที่เข้มแข็งกว่าเข้ามารุกรานชาวโรมันสมัยโบราณได้โดยง่าย แต่ในทางตรงข้าม ชาวโรมันก็ใช้ประโยชน์จากสภาพภูมิศาสตร์ของตนในการรุกรานดินแดนอื่นๆ ทั่วทุกทิศ จนขยายอำนาจเป็นจักรวรรดิโรมันในเวลาต่อมา

            สภาพภูมิศาสตร์ของแหลมอิตาลียังมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเอกภาพของชาวโรมัน ลักษณะภูมิประเทศของแหลมอิตาลี แม้จะมีเทือกเขาอะเพนไนน์ (Apennine) ทอดขนานตามความยาวของรองเท้าบูต แต่เทือกเขานี้ก็ไม่สูงชันเหมือนกับภูเขาในดินแดนกรีก จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการติดต่อค้าขายภายในและการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง นอกจากนี้ แหลมอิตาลียังมีพื้นที่ราบเชิงเขาที่มีดินอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งมีภูมิอากาศที่อบอุ่นช่วยให้การเพาะปลูกได้ผลดี ชาวโรมันจึงมีเศรษฐกิจรุ่งเรือง สามารถขยายตลาดการค้าภายในดินแดนของตนและไม่ต้องพึ่งพาการค้าต่างประเทศมากนัก
            ระบบปกครอง ชาวโรมันได้สถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐขึ้นหลังจากรวมอำนาจในแหลมอิตาลีได้ ระบอบสาธารณรัฐสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ชาวโรมัน เพราะเป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้พลเมืองโรมันทุกคนทั้งชนชั้นสูง สามัญชน และทหาร มีส่วนร่วมในการปกครอง ด้วยการเลือกตั้งตัวแทนของกลุ่มตนเข้าไปบริหารออกกฎหมาย กำหนดนโยบายต่างประเทศ และประกาศสงคราม โดยมีกงสุล (Consull) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ประมุขและบริหารการปกครองทุกด้าน การมีส่วนร่วมในการปกครองของพลเมืองโรมันทำให้สาธารณรัฐโรมันแข็งแกร่งมั่นคงและเจริญก้าวหน้า
           ต่อมาเมื่อโรมันขยายอำนาจครอบครองดินแดนอื่นๆอย่างรวดเร็ว จึงเปลี่ยนระบอบปกครองเป็นจักวรรดิ มีจักรวรรดิเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด จักรวรรดิได้แต่งตั้งชาวโรมันปกครองอาณานิคมต่างๆ โดยตรง ทำให้สามารถควบคุมดินแดนต่างๆ และส่งผลให้จักรวรรดิโรมันมีอำนาจยืนยาวหลายร้อยปี

           กองทัพโรมัน ความเข้มแข็งของกองทัพโรมันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมการขยายอิทธิพลของจักรวรรดิโรมัน กองทัพโรมันมีชื่อเสียงในด้านความสามารถและประสิทธิภาพการรบ ความสำเร็จส่วนใหญ่เกิดจากการจัดองศ์กรภายในกองทัพที่ดีเยี่ยมและการฝึกฝนทหารให้มีประสิทธิภาพและมีวินัย โดยใช้บทลงโทษที่รุนแรง นอกจากนี้ความเข้มแข็งของกองทัพยังรวมถึงความรับผิดชอบของทหารแต่ละคนอีกด้วย (ทหารโรมันประกอบด้วยพลเมืองชายทุกคน มีหน้าที่รับใช้กองทัพในยามเกิดศึกสงคราม ทหารเหล่านี้ไม่มีตำแหน่งในกองทัพ เว้นแต่ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่า 10 ปีขึ้นไป)



         กองทัพโรมันมีสถานะสำคัญมากขึ้นในสมัยจักรวรรดิ ซึ่งต้องอาศัยกองทัพค้ำจุนอำนาจของจักรวรรดิทหารโรมันถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ปกครองจักรวรรดิและเขตแดน จักรวรรดิโรมันได้สร้างป้อมและค่ายทหารจำนวนมากตามแนวชายแดนของจักรวรรดิโดยเฉพาะทางตอนเหนือ โดยเกณฑ์ชาวพื้นเมืองของดินแดนอาณานิคมมาเป็นทหาร ซึ่งได้รับสัญญาว่าถ้าปฏิบัติหน้าที่ครบ 25 ปี ก็จะได้รับสิทธิเป็นพลเมืองโรมัน ดังนั้นจักรววรดิโรมัน จึงมีทหารปฏิบัติหน้าที่รักษาชายแดนประมาณเกือบ 500000 คน อนึ่ง เพื่อเป็นการกระชับการปกครองดินแดนอาณานิคม จักรวรรดิโรมันได้สร้างถนนจำนวนมากเชื่อมระหว่างค่ายทหารซึ่งต่อมาถูดพัฒนาขึ้นเป็นเมืองกับเมืองหลักต่างๆ ในเขตจักรวรรดิ และยังสร้างถนนหลวงเชื่อมเมืองหลักเหล่านี้กับกรุงโรม จนมีคำขวัญว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม

       2.การขยายอำนาจของจักวรรดิโมัน
          ชาวโรมันโบราณที่อพยพเข้ามาอยู่ในแหลมอิตาลีประกอบด้วยเผ่าที่สำคัญ 2 เผ่า คือ พวกละติน ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตที่ราบตะวันตก และตามแนวแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber River) จากนั้นได้สร้างเมืองต่างๆ ขึ้นรวมทั้งกรุงโรม อีกเผ่าหนึ่งคือพวกอีทรัสคัน (Etruscans) ซึ่งอพยพมาจากเอเชียไมเนอร์เมื่อประมาณ 900 ปีก่อนคริสต์ศักราช พวกอีทรัสคันได้ขยายอาณาเขตรุกรานดินแดนของพวกละติน และสถาปนากษัตริย์ปกครองแหลมอิตาลีเมื่อประมาณ 600 ปีก่อนคริสต์ศักราช หลังจากขยายอำนาจปกครองได้ประมาณ 100 ปี พวกอีทรัสคันก็สูญเสียอำนาจ และผสมกลมกลืนกับพวกละตินจนกลายเป็นชาวโรมันในเวลาต่อมา ความเจริญรุ่งเรืองที่พวกอีทรัสคันสร้างไว้ให้แก่อารยธรรมโรมันคือ การนำตัวอักษรกรีกเข้ามาใช้ในแหลมอิตาลี ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นอักษรโรมัน
            พัฒนาการของสาธารณรัฐในโรมัน ชาวโรมันได้สถาปนาสาธารณรัญโรมันขึ้นหลังจากอีทรัสคันเสื่อมสลายไป จากนั้นได้ขยายอำนาจทั่วแหลมอิตาลีและในดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ระหว่างปี 264-146 ก่อนคริสต์ศักราช โรมันได้ทำสงครามพูนิก (Punic War) กับคาร์เทจ (Carthage) ถึง 3 ครั้ง คาร์เทจเป็นนครริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาในเขตประเทศตูนิเชียปัจจุบัน ในอดีตเป็นอาณานิคมที่ชาวฟินิเซียนสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ต่อมาได้เจริญเติบโตและมั่งคั่งพร้อมทั้งมีอาณานิคมของตนหลายแห่ง เมื่อโรมันขยายอำนาจลงมาทางใต้ของแหลมอิตาลีได้เกิดขัดแย้งกับคาร์เทจ ซึ่งมีอาณานิคมอยู่ไม่ไกลจากแหลมอิตาลีมากนัก คาร์เทจพ่ายแพ้แก่โรมันในสงครามพูนิกทั้ง 3 ครั้ง ทำให้โรมันมีอำนาจเหนือดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันตก รวมทั้งสเปน ซึ่งอุดมด้วยเหมืองทองและเงิน

         นอกจากนี้แล้ว โรมันยังเอาชนะอาณาจักรซิโดเนียซึ่งเป็นพันธมิตรของคาร์เทจได้เมื่อปี 147 ก่อนคริสต์ศักราช ดังนั้นนครรัฐกรีกทั้งปวง ตลอดจนดินแดนในเขจเอเชียไมเนอร์ซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของมาซิโดเนียจึงอยู่ภายในอำนาจของโรมันด้วย



                การสถาปนาจักรวรรดิโรมัน การทำสงครามขยายอำนาจครอบครองดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดผู้นำทางการทหารซึ่งได้รับความจงรักภักดีจากทหารของตน เกิดการแก่งแย่งอำนาจกันระหว่างกลุ่มผู้นำกองทัพกับสมาชิกสภาซีเนตซึ่งคุมอำนาจปกครองอยู่เดิม
                ในปี 46 ก่อนคริสต์ศักราช จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)แม่ทัพโรมันซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ที่แหลมอิตาลี สเปน กรีก และอียิปต์ ได้เข้าควบคุมกรุงโรม ปีต่อมาเขาได้รับการสถาปนาเป็นผู้เผด็จการ (Dictator) และมีอำนาจสูงสุดเทียบเท่ากษัตริย์ ขณะนั้นโรมันยังคงปกครองในระบอบสาธารณรัฐ แต่อำนาจขององค์กรการเมืองถูกลิดรอน เช่น การเพิ่มจำนวนสมาชิกในสภาซีเนตจากเดิมซึ่งมีเพียง 300 คน เป็น 900 คน และยังอนุญาตให้สมาชิกมาจากพลเมืองกลุ่มอื่นๆ ได้นอกเหนือจากเดิมที่สงวนให้เฉพาะกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ซีซาร์ยังให้สถานะ พลเมืองโรมันแก่ประชาชนทั่วไปตามเขตต่างๆ มากขึ้น นโยบายดังกล่าวช่วยเพิ่มอิทธิพลและอำนาจของซีซาร์ เป็นเหตุให้มีผู้อิจฉาริษยาอำนาจของเขา ซีซาร์ถูกลักลอบสังหารเมื่อปี 44 ก่อนคริสต์ศักราช
              ต่อมาในปี 27 ก่อนคริสต์ศักราช ออคเตเวียน (Octavian) หลานชายของซีซาร์ได้เปลี่ยนแปลงระบอบสาธารณรัฐเป็นระบอบจักรวรรดิ และสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิออกุสตุส (Augustus) ครองอำนาจระหว่างปี 27-14 ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงเป็นทั้งประมุขสูงสุดที่มีอำนาจปกครองด้านบริหารและนิติบัญญัติ รวมทั้งเป็นจอมทัพอีกด้วย ในสมัยจักรพรรดิออกุสตุสนี้จักรวรรดิโรมันได้ขยายอำนาจออกไปไกลถึงสเปน ซีเรีย เขตลุ่มแม่น้ำไรน์ และแม่น้ำดานูป ตลอดจนถึงเขตทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา ระหว่าง ค.ศ.117-180 จักรวรรดิโรมันเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด สามารถขยายอิทธิพลครอบครองดินแดนมากกว่าครึ่งหนึ่งของภาคพื้นทวีปยุโรป รวมทั้งเกาะอังกฤษ (ยกเว้นสกอตแลนด์) ส่วนทางด้านตะวันออกก็สามารถขยายอิทธิพลต่อเนื่องไปจนถึงดินแดนเมโสโปเตเมียและอาร์เมเนีย ความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันส่งผลให้อารยธรรมโรมันแพร่เข้าไปในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะทวีปยุโรปซึ่งรับความเจริญจากอารยธรรมโรมันทั้งด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม



ออกุสตุส จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งโรมัน

               ความเสื่อมของจักรวรรดิโรมัน ตั้งแต่ ค.ศ. 180 จักรวรรดิโรมันเริ่มเสื่อมอำนาจลง เนื่องจากไม่สามรถปกครองจักรวรรดิที่มีขนาดกว้างใหญ่มากๆได้ บางช่วงต้องมีการแต่งตั้งจักรพรรดิร่วมเพื่อแยกกันปกครองจักรวรรดิใน ค.ศ. 324 จักพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ได้ปกครองจักวรรดิโรมัน และเกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ
            เหตุการณ์แรก ได้แก่การย้ายศูนย์กลางการปกครองจากกรุงโรมไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) เรียกว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) เมื่อ ค.ศ. 330 ทำให้จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกเป็น 2 ส่วน คือ จักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งยังคงมีศูนย์กลางที่กรุงโรม และจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือหรือจักรวรรดิโรมันตะวันออก  มีศูนย์กลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (ปัจจุบันคือนครอิสตันบูลในประเทศตุรกี) ส่งผลให้จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจลงและถูกรุกรานในเวลาต่อมา

          เหตุการณ์ที่ 2 คือการที่จักรพรรดิคอนสแตนตินหันไปนับถือศาสนาคริสต์และทำให้คริสต์ศาสนาแพร่หลายในเขตจักรวรรดิโรมัน และกลายเป็นศาสนาหลักของโลกตะวันตกในเวลาต่อมา
         ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง จักวรรดิโรมันตะวันตกอ่อนแอลงตามลำดับเพราะถูกทำลายโดยพวกอารยชนสำคัญ 2 เผ่า คือ เผ่าเยอรมันซึ่งมาจากทางเหนือของแม่น้ำไรน์และแม่น้ำดานูบ และพวกฮัน (Huns) ซึ่งเป็นเชื้อสายเอเชียมาจากทางเหนือของทะเลดำ พวกเยอรมันโจมตีกรุงโรมได้ใน ค.ศ. 410 และปล้นสะดมทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในจักรวรรดิโรมันตะวันตก ในที่สุดจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกก็ถูกโค่นใน ค.ศ. 476 ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นปีที่จักรวรรดิโรมันล่มสลาย แม้ว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ยังดำรงอยู่ต่อไปก็ตาม

3.มรดกของอารยธรรมโรมัน
           ชาวโรมันได้ใช้เวลานานกว่า 600 ปีในการผสมผสานและหล่อหลอมอารยธรรมของตน ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วจักรวรรดิโรมันที่กว้างใหญ่ ความโดเด่นของอารยธรรมโรมันเกิดจากรากฐานที่แข็งแรง ซึ่งได้รับจากอารยธรรมกรีกและอารยธรรมของดินแดนรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผสานกับความเจริญก้าวหน้าที่เป็นภูมิปัญญาของชาวโรมันเองที่พยายามคิดค้นและสร้างระบบต่างๆ เพื่อดำรงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันไว้ ทำให้จักรวรรดิโรมันเจริญก้าวหน้า ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม

            ด้านการปกครอง อารยธรรมด้านการปกครองเป็นภูมิปัญญาของชาวโรมันที่ได้พัฒนาระบอบการปกครองของตนขึ้นเป็นระบอบสาธารณรัฐและจักรวรรดิ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับจักรวรรดิโรมัน จุดเด่นของการปกครองแบบโรมัน คือการให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการบริหารราชการส่วนกลาง และการปกครองโดยใช้หลักกฎหมาย
          การปกครองส่วนกลาง พลเมืองโรมันแต่ล่ะกลุ่ม ทั้งชนชั้นสูง สามัญชน และทหาร ต่างมีโอกาสเลือกผู้แทนของตนเข้าไปบริหารประเทศรวม 3 สภา คือ สภาซีเนต (Senate) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มแพทริเซียน (Patricians) หรือชนชั้นสูง สภากองร้อย (Assembly of Centuries) ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มทหารเหล่าต่างๆ และราษฎร (Assembly of Tribes) ซึ่งเป็นตัวแทนของพวกพลีเบียน (Ple-beians) หรือสามัญชนเผ่าต่างๆ รวม 35 เผ่า แต่ละสภามีหน้าที่และอำนาจแตกต่างกัน รวมทั้งการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ไปบริหารงานส่วนต่างๆ แต่โดยรวมแล้วสภาซีเนตมีอำนาจสูงสุด เพราะได้ควบคุมการปกครองทั้งด้านบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนกำหนดนโยบายต่างประเทศด้วย

           กฎหมายโรมัน โรมันมีกฎหมายมาตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐ ในระยะแรกกฎหมายไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์ การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามวินิจฉัยของผู้พิพากษาซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นสูง ดังนั้นพวกสามัญชนจึงเรียกร้องให้เขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์ ซึ่งต่อมาได้แกะสลักบนแผ่นไม้รวม 12 แผ่นเรียกว่า กฎหมายสิบสองโต๊ะ (Twelve Tables) ความโดดเด่นของกฎหมายโรมันคือ ความทันสมัย เพราะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับโครงสร้างการปกครองที่เปลี่ยนเป็นระบอบจักรวรรดิและสภาพแวดล้อมของประชาชนในทุกส่วนของจักรวรรดิ นอกจากนี้ตุลาการชาวโรมันยังมีส่วนทำให้เกิดการยอมรับหลักการพื้นฐานของกฎหมายว่า ประชาชนทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยึดเป็นแบบอย่างปฏิบัติต่อมาถึงปัจจุบันคือ ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่ามีการกระทำความผิด
            กฎหมายโรมันเป็นมรดกทางอารยธรรมที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานของหลักกฎหมายของประเทศต่างๆในทวีปยุโรป และยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อกฎและข้อบังคับของศาสนาคริสต์

            ด้านเศรษฐกิจ  จักรวรรดิโรมันมีนโยบายส่งเสริมการผลิตทางด้านเกษตรกรรม และอุตสากหรรม รวมทั้งการค้ากับดินแดนภายในและภายนอกจักรวรรดิ
           ด้านเกษตรกรรม เดิมชาวโรมันในแหลมอิตาลีประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก และพึ่งพิงการผลิตภายในดินแดนของตน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันขยายอำนาจออกไปครอบครองดินแดนอื่นๆ การเพาะปลูกพืชและข้าวในแหลมอิตาลีเริ่มลดลง เนื่องจากรัฐส่งเสริมให้ดินแดนอื่นๆ นอกแหลมอิตาลีปลูกข้าว โดยวิธีการปฏิรูปที่ดิน ดินแดนที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นกอล (Gaull) เขตประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน และตอนเหนือของแอฟริกา ส่วนพื้นที่การเกษตรในแหลมอิตาลีส่วนใหญ่เปลี่ยนไปทำไร่องุ่นและเลี้ยงสัตว์
           ด้านการค้า การค้าในจักรวรรดิโรมันรุ่งเรืองมาก มีทั้งการค้ากับดินแดนภายในและนอกจักรวรรดิ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรือง ได้แก่ ขนาดของดินแดนที่กว้างใหญ่และจำนวนประชากร ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่สามารถรองรับสินค้าต่างๆได้มาก นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีการค้าก็อยู่ในอัตราต่ำและยังมีการใช้เงินสกุลเดียวกันทั่วจักรวรรดิ ประกอบกับภายในจักวรรดิโรมันมีระบบคมนาคมขนส่งทางบก คือ ถนนและสะพานที่ติดต่อเชื่อมโยงกับดินแดนต่างๆ ได้สะดวก ทำให้การติดต่อค้าขายสะดวกรวดเร็ว การค้ากับดินแดนนอกจักรวรรดิโรมันที่สำคัญได้แก่ ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะการค้ากับอินเดียซึ่งส่งสินค้าประเภทเครื่องเทศ ผ้าฝ้าย และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ สำหรับชนชั้นสูงเข้ามาจำหน่าย โดยมีกรุงโรมและนครอะเล็กซานเดรียในอียิปต์เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ

          ด้านอุตสาหกรรม ความรุ่งเรืองทางกาค้าของจักรวรรดิโรมันส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ดินแดนที่มีการประกอบอุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่ แหลมอิตาลี สเปน และแคว้นกอล ซึ่งผลิตสินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาและสิ่งทอ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมในเขตจักรวรรดิโรมันส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ใช้แรงงานคนเป็นหลัก
            ด้านสังคม จักรวรรดิโรมันมีความเจริญด้านสังคมมาก ที่สำคัญได้แก่ ภาษา การศึกษา วรรณกรรม การก่อสร้าง และสถาปัตยกรรม วิทยาการต่างๆ และวิถีดำรงชีวิตของชาวโรมัน

             ภาษาละติน ชาวโรมันพัฒนาภาษาละตินจากตัวพยัญชนะในภาษากรีกที่พวกอีทรัสคันนำมาใช้ในแหลมอิตาลี ภาษาละตินมีพยัญชนะ 23 ตัว ใช้กันแพร่หลายในมหาวิทยาลัยของยุโรปสมัยกลาง และเป็นภาษาทางราชการของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาจนถึงศตวรรษ 1960 นอกจากนี้ภาษาละตินยังเป็นภาษากฎหมายของประเทศในยุโรปตะวันตกนานหลายร้อยปีและเป็นรากของภาษาในยุโรป ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส และโรมาเนีย ภาษาละตินยังถูกนำไปใช้เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกับภาษากรีกด้วย
              การศึกษา โรมันส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนของตนทั่วจักวรรดิในระดับประถมและมัธยม โดยรัฐจัดให้เยาวชนทั้งชายและหญิงที่มีอายุ 7 ปี เข้าศึกษาในโรงเรียนประถมโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ส่วนการศึกษาระดับมัธยมเริ่มเมื่ออายุ 13 ปี วิชาที่เยาวชนโรมันต้องศึกษาในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ภาษาละติน เลขคณิต และดนตรี ผู้ที่ต้องการศึกษาวิทยาการเฉพาะด้าน ต้องเดินทางไปศึกษาตามเมืองที่เปิดสอนวิชานั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น กรุงเอเธนส์สอนวิชาปรัชญา นครอะเล็กซานเดรียสอนวิชาการแพทย์ ส่วนกรุงโรมเปิดสอนวิชากฎหมาย คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์

           ด้านวรรณกรรม โรมันได้รับอิทธิพลด้านวรรณกรรมจากกรีก ประกอบกับได้รับการส่งเสริมจากจักรพรรดิโรมัน จึงมีผลงานด้านวรรณกรรมจำนวนมากทั้งบทกวีและร้อยแก้ว มีการนำวรรณกรรมกรีกมาเขียนเป็นภาษาละตินเพื่อเผยแพร่ในหมู่ชาวโรมัน และยังมีผลงานด้านประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์โรมันที่มีชื่อเสียงคือ แทซิอุส (Tacitus) ซึ่งวิพากษ์การใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยของชาวโรมัน ส่วนกวีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโรมันคือ ซิเซโร (Cicero) ซึ่งมีผลงานจำนวนมากรวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง



ซิเซโร กวีผู้มีชื่อเสียงแห่งโรมัน

               การก่อสร้างและสถาปัตยกรรม ผลงานด้านการก่อสร้างเป็นมรดกที่ยิ่งใหญ่ของชาวโรมัน โรมันเรียนรู้พื้นฐานและเทคนิคการก่อสร้าง การวางผังเมืองและระบบระบายน้ำจากกรีกจากนั้นได้พัฒนาระบบก่อสร้างของตนเอง ชาวโรมันได้สร้างผลงานไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ถนน สะพาน ท่อส่งน้ำประปา อัฒจันทร์ครึ่งวงกลม สนามกีฬา ฯลฯ อนึ่ง ในสมัยนี้มีการใช้ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุก่อสร้างอย่างแพร่หลาย นอกจากผลงานด้านการก่อสร้างแล้ว โรมันยังมีผลงานด้านสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปกรรมที่งดงามจำนวนมาก เช่น พระราชวัง วิหาร โรงละครสร้างเป็นอัฒจันทร์ครึ่งวงกลม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรมันจะรับสถาปัตยกรรมกรีกเป็นต้นแบบงานสถาปัตยกรรมของตน แต่ชาวโรมันก็ได้พัฒนารูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนด้วย เช่น ประตู วงโค้ง และหลังคาแบบโดม



โคลอสเซียม สถาปัตยกรรมของชาวโรมัน ปัจจุบันอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี

               ด้านวิทยาการต่างๆ ชาวโรมันไม่ได้พัฒนาความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์มากนัก แต่ได้สร้างคุณูปการสำคัญให้แก่ชาวโลกซึ่งได้แก่การรวบรวมและบันทึกวิทยาการต่างๆ ที่ได้รับมาและตกทอดเป็นมรดกแก่ชาวโลก เช่น ตำราด้านการแพทย์ ดาราศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สัตวแพทย์ ฯลฯ อย่างไรก็ตามการแพทย์และสาธารณสุขของโรมันนับว่าก้าวหน้ามาก แพทย์โรมันสามารถผ่าตัดรักษาโรคได้หลายโรค โดยเฉพาะการผ่าตัดทำคลอดทารกจากทางหน้าท้องของมารดา ซึ่งเรียกว่า ศัลยกรรมซีซาร์ (Caesarean Operation) นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงพยาบาลระบบบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล
           วิถีชีวิตของชาวโรมัน  ความเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิโรมัน ทำให้ชนชั้นสูงชาวโรมันและผู้มีฐานะมั่งคั่งดำรงชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ทั้งการสร้างคฤหาสน์ที่โอ่อ่า สุขสบาย มีสิ่งบำเรอความสะดวกครบถ้วน ลักษณะเด่นที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่หรูหราของชาวโรมันคืออ่างอาบน้ำ ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในบ้านและที่อาบน้ำสาธารณะ ในทางตรงข้ามประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน โดยเฉพาะในกรุงโรมมีคนจนจำนวนมากซึ่งมีชีวิตยากจน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและขาดสวัสดิการ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนถึงปัญหาสังคมของเมืองใหญ่ที่เจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุ แต่มักประสบปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน

          โดยสรุป อารยธรรมสมัยโบราณคือเมโสโปเตเมียและอียิปต์ แม้จะมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตทวีปเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกา แต่ความเจริญส่วนใหญ่กลับเป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตก เนื่องจากกรีกและโรมันรับเอาความเจริญของอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมียไปพัฒนาและผสมผสานกลมกลืนเป็นอารยธรรมของตน ซึ่งได้ลืบทอดไปสู่ทวีปยุโรปพร้อมกับการขยายตัวของจักรวรรดิโรมัน ทำให้อารยธรรมตะวันตกหล่อหลอมขึ้นจากความหลากหลาย ส่วนอารยธรรมจีนและอินเดียเป็นอารยธรรมหลักของอารยธรรมตะวันออกโบราณที่ได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกไม่มากนัก เป็นพลให้พัฒนาการของอารยธรรมตะวันออกและอารยธรรมตะวันตกในเวลาต่อมาต่างมีเอกลักษณ์ของตนเอง

 

 
ที่มา : http://metricsyst.wordpress.com
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น