วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

ปัญหาความยากจนและการแก้ปัญหาความยากจน


                       ปัญหาความยากจนและการแก้ปัญหาความยากจน
1.              กรอบคิดเรื่องที่มาและความหมายของคนจน

แนวคิดเกี่ยวกับปัญหาความยากจน ที่มีการนำเสนอกันมากขึ้นในปัจจุบัน มีกรอบคิดเกี่ยวกับที่มาและความหมายของคนจนไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่) เช่น กรอบคิดแบบเจ้าขุนมูลนายมองว่า คนจนคือคนขี้เกียจเรียน ขี้เกียจทำงาน หรือทำบาปกรรมไว้แต่ชาติก่อน กรอบคิดแบบนายทุนมองว่า คนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าที่จะใช้ยังชีพให้มีมาตรฐานได้ และการที่คนจนเนื่องจากพวกเขายังไม่ได้รับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่มากพอ

ผู้นำเสนอมักยอมรับกรอบคิดหรือนิยามเรื่องคนจนโดยไม่ได้สำรวจหรือไม่ได้วิเคราะห์ว่า กรอบคิดเกี่ยวกับที่มาและความหมายของความยากจนที่ใช้กันอยู่นั้น ถูกต้องสักแค่ไหน มีกรอบคิดแบบอื่นที่ต่างออกไปหรือไม่
การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความจริง เราจะต้องวิเคราะห์ตั้งแต่กรอบคิดเรื่องความยากจนก่อน

1.1 ที่มา-คนจนยุคใหม่ไม่เหมือน และไม่ได้สืบทอดความเป็นคนจนมาจากอดีตเสมอไป คนจนหรือคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมต่ำกว่าคนอื่น ๆ ในสังคมเดียวกันมีมาตั้งแต่อดีต แต่ในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้เป็นสัดส่วนสูงนั้น คนในหมู่บ้านไม่ได้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกันมากนัก คนส่วนใหญ่มีมาตรฐานการดำรงชีพที่พออยู่พอกินใกล้เคียงกัน โดยที่พวกเขาไม่ค่อยจำเป็นต้องซื้อขายหรือใช้เงิน

คนที่ถูกจัดว่ายากจนในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะมาจากความด้อยโอกาสทางสังคม และวัฒนธรรม เช่น มาจากชาติพันธุ์หรือภูมิหลังทางสังคมที่คนมองว่าเป็นพวกด้อย, ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ หรือกลายเป็นคนยากจนขัดสนในสถานการณ์บางอย่าง เช่น เกิดมาพิการ หรือได้รับภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นหม้าย แก่ชราโดยไม่มีลูกเต้าเลี้ยงดู ฯลฯ มากกว่าเป็นเพราะว่าเขาเกิดมาและอยู่ในชนชั้นที่ยากจน

ความยากจนในลักษณะเปรียบเทียบในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิมนี้มักไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ในบางชุมชนที่ค่อนข้างมีความเสมอภาคกันมาก ไม่ได้มีปัญหาคนยากจน หรือไม่มีแนวคิดเรื่องความยากจนนี้มาก่อนเลยด้วยซ้ำกรอบคิดเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก อธิบายว่าประเทศสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นประเทศยากจนล้าหลัง ที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตก ประเทศเหล่านี้จึงจะก้าวไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งแบบเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมได้ แต่ถ้าเราไม่ใช้กรอบคิดที่มองความยากจนในเรื่องรายได้ต่ำหรือความไม่ทันสมัย หากใช้กรอบคิดที่มองในแง่ว่าคนมีปัจจัยพื้นฐานที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตที่มีความสุขหรือไม่ เราอาจจะกล่าวในทางตรงกันข้ามได้ว่า การพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการทำให้คนส่วนหนึ่งยากจนลง หรือเป็นผู้สร้างความยากจนยุคใหม่ขึ้น เพราะการพัฒนาทุนนิยมในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย เป็นการพัฒนาทุนนิยมแบบบริวาร ที่มีการผูกขาด, การแข่งขันไม่เป็นธรรม พึ่งการลงทุน การสั่งเข้าเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย ไม่ได้พัฒนาพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง การเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์กับทุนต่างชาติ และนายทุนใหญ่ในประเทศ มากกว่าที่จะกระจายสู่คนส่วนใหญ่ ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเกิดคนจนมากขึ้น ประชาชนยังถูกทำให้จนลงโดยนโยบายพัฒนาประเทศแบบทุนนิยมบริวาร ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น

1. เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อกินเพื่อใช้ ไปเป็นการปลูกพืชเดี่ยวเพื่อขายหาเงินไปซื้อของกินของใช้ ทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองด้านอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยได้ลดลงจากเดิม และเปลี่ยนมาพึ่งพาการใช้เงินและระบบตลาดที่มีลักษณะผูกขาดมากขึ้น เกษตรกรในยุคตั้งแต่มีการพัฒนาการเกษตรแบบทุนนิยมต้องตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบ ต้องทำงานหนัก อพยพโยกย้ายพลัดพรากจากครอบครัว บ้านเกิดเมืองนอน มีรายได้เป็นตัวเงินสูงขึ้น แต่รายจ่ายกลับเพิ่มมากกว่ารายได้ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากขึ้น

2. ทำลายวิถีชีวิตชุมชนแบบยอมรับกรรมสิทธิร่วมในเรื่องป่าไม้ ที่ทำกิน ทรัพยากรต่าง ๆ และการอยู่แบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไปเป็นวิถีชีวิตแบบการแย่งชิงทรัพยากรไปเป็นกรรมสิทธิของเอกชน เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดและการบริโภคสูงสุด การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า ความมั่นคงหรือเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมหายไป ชีวิตเกษตรกรในระบบทุนนิยมมีความเสี่ยงและยากลำบากแบบตัวใครตัวมันมากขึ้น

3. ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม แหล่งทำมาหากินและยังชีพที่คนในชนบทเคยอาศัยทำมาหากินแบบเพียงพอ คนถูกกวาดต้อนให้เข้าสู่ระบบผลิตทุนนิยมผูกขาดที่วิถีการผลิต, วิถีการบริโภคของคนขึ้นอยู่กับการลงทุน, การจ้างงาน และการบริโภคที่ต้องหาเงินมาซื้อมากขึ้น เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่คนในชนบทและคนงานในเมืองควบคุมไม่ได้หรือไร้อำนาจในการตัดสินใจ และทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้น


เมื่อประเทศกำลังพัฒนาเริ่มพัฒนาวิถีการผลิตและวิถีชีวิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ในระยะแรก ๆ ดูเผิน ๆ เหมือนจะดีที่ทำให้ประชาชนมีรายได้เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น มีสินค้าให้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ยิ่งพวกเขาพัฒนาการเกษตรเป็นแบบการผลิตเพื่อขายมากขึ้น ประชาชนถึงได้พบในตอนหลังว่ารายจ่ายเพิ่มสูงเร็วกว่ารายได้ เกษตรกรต้องเป็นผู้เช่า, เป็นหนี้ ต้องซื้อแพงขายถูก ทำงานหนักเพิ่มขึ้น เสี่ยงภัยและได้รับมลภาวะเพิ่มขึ้น คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตลดลงกว่าวิถีชีวิตในยุคสมัยเกษตรยังชีพแบบดั้งเดิม

ความยากจนยุคใหม่หรือความยากจนแบบที่คนจำนวนมากมีรายได้ไม่พอที่จะดำรงชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มมากขึ้น มักถูกนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมอุตสาหกรรมอธิบายว่า มาจากสาเหตุ

1. ประชากรเพิ่มขึ้นมาก ทรัพยากรมีจำกัด หรือไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพให้เพียงพอกับความต้องการของคน

2. โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศยากจนเป็นแบบเผด็จการและเจ้าขุนมูลนาย โดยอภิสิทธิชนกลุ่มน้อย

3. คนจนคือคนที่ได้รับการศึกษาอบรมต่ำ ได้รับบริการทางสาธารณสุขต่ำ มีวิถีการผลิตและวิถีชีวิตที่ล้าหลัง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำแข่งขันสู้คนอื่นเขาไม่ได้ (วัฎจักรของ โง่ เจ็บ จน)


คำอธิบายนี้มองแต่ปัจจัยภายในประเทศของประเทศพัฒนาน้อยกว่า รวมทั้งมองว่าเป็น ปัจจัยส่วนบุคคลด้วย โดยละเลยไม่มองปัจจัยภายนอกประเทศจากการเข้ามาเอาเปรียบของประเทศอาณานิคมและบริษัทข้ามชาติ แน่ละปัจจัยภายในประเทศเหล่านี้สะท้อนความจริงส่วนหนึ่งสำหรับบางประเทศ, บางกลุ่มคน, หรือในบางระดับ แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมดของคนจนส่วนใหญ่ในโลกปัจจุบัน และไม่ใช่ความจริงทั้งหมดของคนยากจนชาวไทยในปัจจุบัน คนจนสมัยก่อนไม่ได้จนมากเหมือนคนจนสมัยนี้

ในประเทศไทยในยุคก่อนการพัฒนาแบบทุนนิยมบริวาร มีความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรสูง (ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว) สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนชนบทส่วนใหญ่มองในแง่การมีปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยารักษาโรคค่อนข้างพอเพียง ถ้าเปรียบเทียบแล้วคนไทยทั่ว ๆ ไปแม้แต่คนชนบทที่ห่างไกลก็ยังมีอาหารและเครื่องใช้ไม้สอยพอเพียงมากกว่าคนจนยุคใหม่ ซึ่งต้องทำงานหาเงินเพื่อใช้เงินซื้อปัจจัยพื้นฐานทุกอย่าง

ความยากจนยุคใหม่ซึ่งเป็นความยากจนขึ้นอยู่กับการที่คนหาเงินได้ไม่พอกับรายจ่ายที่จำเป็น ส่วนใหญ่แล้วถูกสร้างขึ้นโดยระบบเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ที่ทำลายทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนแบบดั้งเดิม ซึงเปรียบเสมือนทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน


การพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาด ทำให้คนบางส่วน นายทุน, พ่อค้า, ผู้ประกอบการายใหญ่, คนชั้นกลาง รวยขึ้น แต่ทำให้คนส่วนใหญ่จนลง นี่คือความยากจนขนานใหญ่ เป็นความยากจนเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ ซึ่งต่างไปจากความยากจนเชิงเปรียบเทียบในสังคมเกษตรดั้งเดิมสมัยก่อนทุนนิยมโดยสิ้นเชิง
จริงอยู่ที่การพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มีแง่บวกในด้านการพัฒนาสาธารณสุข การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี่ และการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ช่วยเพิ่มผลผลิต ทำให้บางประเทศ หรือคนบางกลุ่มมีฐานะความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้นจากเดิม อัตราการตายของแม่และเด็กลดลง, คนอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ฯลฯ

แต่ผลกระทบในแง่ลบของระบบทุนนิยมโลกที่มีลักษณะผูกขาดแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอานั้น โดยส่วนรวมแล้วทำให้คนส่วนน้อยเพียงราว 20% ของคนทั้งโลกเท่านั้นที่รวยขึ้น คนส่วนใหญ่อีก 80% ถูกทำให้ยากจน ขัดสนและอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น ทรัพยากร, ทุนทางสังคมวัฒนธรรม(ชุมชนที่เคยเข้มแข็งและช่วยเหลือเกื้อกูลสมาชิกได้อย่างดี) ถูกทำลายมากขึ้น มีการแก่งแย่งแข่งขันแบบเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราควรจะมองผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมผูกขาด ทั้งแง่บวกและแง่ลบอย่างวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใช่มองแต่แง่บวกแง่เดียว เราถึงจะเข้าใจปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง

1.2 คนจนคือใคร ? - กรอบคิดที่วัดความยากจนในแง่รายได้ล้วนๆ นำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก

ธนาคารโลก และนักเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมตะวันตกเป็นผู้เผยแพร่กรอบคิดการวัดความยากจนของประเทศในแง่รายได้ต่อหัว และวัดความยากจนของคนในแง่การมีรายได้มาซื้อสินค้าและบริการพอยังชีพหรือไม่ ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่นถือว่าเป็นประเทศยากจน คนที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับรายได้ในการยังชีพ ถือว่าเป็นคนยากจน เช่น ใช้ตัวเลขว่า ปี 2542 ไทยมีคนจน คือ คนที่รายได้ต่ำกว่า 886 บาท ต่อเดือนอยู่ 9.9 ล้านคน หรือ 15.9% ของคนทั้งประเทศ

การให้คำจำกัดความ คนจน ในแง่ของรายได้ล้วน ๆ นำไปสู่คำอธิบายต่อไปว่า ความยากจนเกิดจากการที่ประเทศ และคนยากจนยังพัฒนาแบบทุนนิยมได้น้อยไป แนวทางแก้ไขของธนาคารโลกและนักเศรษฐศาสตร์กระแสทุนนิยมอุตสาหกรรมคือ ประเทศร่ำรวย ต้องให้ประเทศยากจนกู้เพิ่ม บริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในประเทศยากจนเพิ่ม เพื่อทำให้ประเทศและคนยากจนเหล่านี้เข้ามาสู่ระบบการผลิตเพื่อการค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบายว่าตอนเริ่มแผนพัฒนาใหม่ ๆ คือในปี 2505/06ประเทศไทยมีคนจนในแง่รายได้ 57% ของคนทั้งประเทศ หลังจากมีการใช้แผนพัฒนา(แบบทุนนิยมสมัยใหม่)สัดส่วนคนจนของไทยได้ลดลงตามลำดับ จนถึง ปี 2539 มีคนจนเพียงแค่ 11.4% ของคนทั้งประเทศ การวัดแบบนี้เป็นการเน้นเรื่องรายได้ที่เป็นตัวเงิน และการคำนวณเส้นความยากจน จึงไม่อาจสะท้อนภาพคนจนอย่างแท้จริง เพราะค่าครอบชีพสูงขึ้น, คนสมัยใหม่ต้องซื้ออาหารการกินและเครื่องใช้ไม้สอยมากขึ้น ไม่ได้ทำกินหรือหากินตามธรรมชาติได้

สภาพความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ โครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกที่พวกนักเศรษฐศาสตร์อ้างว่าเป็นการแข่งขันเสรีที่เป็นธรรม ที่นำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จริง ๆ แล้วเป็นระบบทุนนิยมผูกขาด โดยบริษัททุนข้ามชาติและทุนขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นยิ่งโลกพัฒนาแบบทุนนิยมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างความร่ำรวยให้กับผู้เป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิตซึ่งเป็นคนส่วนน้อย, ยิ่งทำลายสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางสังคม วัฒนธรรม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนมากขึ้น และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศส่วนใหญ่ รวมทั้งในประเทศไทยมากขึ้น

ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ซึ่งเราต้องขายแรงงานหรือผลิตเพื่อขาย และต้องใช้เงิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวัดความยากจนในแง่รายได้ที่แท้จริงที่คนเราสามารถใช้ยังชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนได้ เป็นวิธีวัดเชิงปริมาณที่สะท้อนความเป็นจริงส่วนหนึ่ง แต่เราควรใช้รายได้หรือผลผลิตในการยังชีพเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ไม่ควรที่จะวัดเฉพาะรายได้อย่างเดียว


การวัดความยากจนแบบใช้เส้นวัดความยากจนเป็นตัวกำหนด คือดูว่าใครมีรายได้เฉลี่ยพอซื้ออาหารและปัจจัยที่จำเป็นพอยังชีพได้ มีข้อจำกัดทั้งในทางเทคนิค(ว่าจะกำหนดตัวเลขเท่าไหร่จะวัดได้ถูกต้องแม่นยำแค่ไหน) และในทางกรอบคิดอุดมการณ์ คือ ถ้าเราเลือก ให้คำจำกัดความ หรือมองความยากจนเฉพาะในแง่รายได้ล้วน ๆ ก็จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า ทางแก้ไขความยากจน คือ ต้องทำให้คนจนทำงาน หารายได้เพิ่ม ใครมีรายได้สูงเกินขีดหนึ่งก็ถือว่าพ้นความยากจน ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกทั้งหมด

เกษตรกรในสังคมดั้งเดิม หรือเกษตรกรยุคปัจจุบันบางกลุ่มบางคนที่เลิกหรือลดการทำเกษตรเพื่อขายแบบทุนนิยมหันกลับไปฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบพอเพียง ที่ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้ มีปัจจัยพื้นฐานพอเพียง โดยหาเงินได้น้อยและใช้เงินน้อยลง กลับมีความเป็นอยู่(ในแง่การมีปัจจัยพื้นฐานพอเพียง)ที่ดีกว่าเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายอย่างเดียวที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เนื่องจากเกษตรกรที่ผลิตเพื่อขายแบบทุนนิยมต้องซื้อทั้งปัจจัยการผลิต และเครื่องอุปโภคบริโภคในราคาสูงกว่ารายได้ ทำให้พวกเขามีรายได้สุทธิต่ำจนไม่พอที่จะซื้อหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นได้เพียงพอ

นอกจากนี้แล้ว คนที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนนิดหน่อย แต่ยังคงมีหนี้มาก, ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต สถานะทางสังคมและการเมืองต่ำ, ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีสิทธิโอกาสที่จะเข้าถึงบริการพื้นฐานต่าง ๆ ได้ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ฯลฯ ก็ยังอาจถูกจัดว่าเป็นคนยากจนในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ได้ การวัดการกระจายรายได้ของคนไทยพบว่า ยิ่งพัฒนา การกระจายรายได้ของกลุ่มคนต่าง ๆ ในประเทศยิ่งมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากขึ้น ในปี 2518/19 คนที่รวยที่สุด 20% มีรายได้ 49.3% ของคนทั้งประเทศ คนอีก 80% มีรายได้ 50.7% แต่อีก 23 ปีต่อมาคือ ปี 2542 คนที่รวยที่สุด 20% มีรายได้เพิ่มขึ้น 58.5% ขณะที่คน 80% มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 41.5% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ

ดังนั้นเราจึงควรจำกัดความคนจน ให้ครอบคลุมคนยากจนขัดสนในด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรมด้วย และหาตัวชี้วัดทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ด้วย และหาตัวชี้วัดทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากตัวชี้วัดทางรายได้หรือทางเศรษฐกิจ มาพิจารณาประกอบกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เราจึงจะเห็นภาพความยากจนซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมอย่างเป็นองค์รวม และสามารถวิเคราะห์สาเหตุของความยากจน ทั้งจากปัจจัยภายนอก(ทุนนิยมโลก) และปัจจัยภายใน(โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในประเทศที่เป็นเผด็จการล้าหลัง) ปัญหาผลกระทบปัญหาความยากจนต่อสังคม และแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างถูกต้องหรือใกล้เคียงความเป็นจริงได้มากขึ้น

2.              ความยากจนเชิงโครงสร้าง


ปัจจุบันมีนักคิดนักวิเคราะห์สังคมไทย ที่มองปัญหาความยากจนในความหมายกว้าง คือ มองความยากจนในเชิงโครงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือปัญหาเชิงนโยบายของรัฐมากขึ้น

อาจารย์ประเวศ วะสี มองว่า โครงสร้างหรือกลไกในสังคมมีลักษณะเอาเปรียบคนจนหรือทำให้คนจนจน โครงสร้างทางสังคมที่ทำให้เกิดความยากจนมีอย่างน้อย 10 ประการคือ 1) ทรรศนะผิด ๆ ของสังคมที่รังเกียจคนจน คิดว่าคนจนเพราะเวรกรรมในชาติก่อน ทรรศนะที่รังเกียจการใช้แรงงาน การแต่งตัวแบบปอน ๆ ฯลฯ 2) โครงสร้างทางกฎหมาย 3) โครงสร้างการใช้ทรัพยากร 4) ระบบการศึกษา 5) ระบบการธนาคาร 6) ระบบการสื่อสาร 7) ระบบราชการ 8) การกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ 9) ระบบการเมือง 10) สังคมอ่อนแอ ขาดการรวมกลุ่มร่วมกันคิดร่วมกันทำให้มีพลังเข้าใจปัญหา โครงสร้างทางสังคมทั้ง 10 อย่างเอื้อต่อคนรวยและเป็นตัวกระทำให้เกิดความยากจนเชิงโครงสร้าง ซึ่งไม่ใช่ยากจนเพียงเพราะไม่ขยันหรือไม่ดี ดังนั้นเราจึงจะต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างทางสังคมทั้ง 10 ประการนี้ให้ได้ เราจึงจะมีทางแก้ความยากจนได้

อาจารย์เสน่ห์ จามริก มองว่า ความยากจนในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยระบบโครงสร้างสังคมและนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้การแบ่งสรรทรัพยากรโน้มเอียงไปในทางที่ทำให้คนมีได้เปรียบคนจนเสียเปรียบ ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่คุณสมบัติส่วนตัว ที่คนบางคนจนเพราะไม่อยากเอาดี ไม่อยากขยันเหมือนในยุคอดีต

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า ความยากจนในโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นปัญหาของปัจเจกชน ที่บางคนมีรายได้น้อย บางคนมีรายได้มาก หากเป็นผลพวงมาจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การครอบงำจากประเทศมหาอำนาจ ที่ได้แย่งเอาทรัพยากรที่ประชาชนทั่วไปเคยใช้อยู่ แหล่งจับปลา ทรัพยากรชายฝั่ง ไปให้คนอื่นใช้ เช่น ทำเป็นเขื่อนสร้างกระแสไฟฟ้า เอาไปทำนากุ้ง ปล่อยให้เรือกระตักทำลายสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทำให้ประชาชนไร้สมรรถภาพที่จะเข้าถึงทรัพยากรในการดำรงชีวิต จึงต้องกลายเป็นคนจน ไร้อำนาจในการตัดสินใจ ทั้งในตลาดและในการเมือง ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เหมือนเมื่อก่อน จึงต้องกลายเป็นคนจน

การไร้สมรรถภาพไร้อำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรในที่นี้ อาจารย์นิธิ ยังมองกว้างถึงทรัพยากรในด้านการศึกษา ซึ่งกลายเป็นสมบัติของคนชั้นกลางที่คนจนเข้าไม่ถึงมากขึ้น ส่วนที่คนจนเข้าถึงก็มักเป็นการศึกษาประเภทใช้ประโยชน์ไม่ได้จริง (เสน่ห์ จามริก และคณะ คลังสมองคนจน หนังสือชุดความรู้เล่มที่ 5 สถาบันพัฒนาการเมือง 2543)

กล่าวโดยรวมก็คือ เราควรเข้าใจความหมายของความยากจน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และเข้าใจที่มาของความยากจน ว่าถูกกำหนดโดยเงื่อนไขหลายประการ เงื่อนไขที่สำคัญคือ ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่มีลักษณะเอื้อคนรวย และเอาเปรียบคนจน และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เป็นตัวสร้างความยากจนยุคใหม่เพิ่มขึ้น

 3. คนยากจนยุคใหม่ครอบคลุมถึงใครบ้าง อะไรคือเงื่อนไขความยากจน
3.1 ความหมายของคนยากจน (คนขัดสน, ด้อยโอกาส, คนในภาวะยากลำบาก ฯลฯ)

1) ไม่มีรายได้เพียงพอ หรือไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นขั้นต่ำ สำหรับอาหารที่มีคุณค่า ที่อยู่อาศัย และเครื่องอุปโภคบริโภคที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพในเกณฑ์มาตรฐานได้ เช่น เกษตรกรรายย่อยที่ผลผลิตต่ำ และหาอาหารเองไม่ค่อยได้, ไร้ฝีมือ ที่ไม่มีงานประจำ, ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย, คนตกงาน คนด้อยโอกาส ฯลฯ เส้นความยากจนที่นักเศรษฐศาสตร์กำหนด 886 บาท ต่อคนต่อเดือนในปี 2542 น่าจะต่ำเกินกว่าความจริง เพราะรายได้ขั้นต่ำตามที่คณะกรรมการไตรภาคีแรงงานที่คำนวณว่าพอให้คนมีรายได้ยังชีพยังอยู่ที่ 133-165 บาทต่อวัน(แล้วแต่จังหวัด)หรือราว 4,000 - 5,000 บาทต่อเดือน

2) มีรายได้หรือความสามารถในการตอบสนองความต้องการในชีวิตที่ต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนในสังคมเดียวกัน หากมองในแง่นี้จะกินความหมายกว้าง ถึงคนที่มีรายได้ต่ำสุด 80% ซึ่งมีสัดส่วนในรายได้เพียง 41.5% ของรายได้ของคนทั้งประเทศ และคน 80% นี้ก็เป็นคนมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน ต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ 3,508 บาท ต่อคน/ต่อเดือน ในปี 2542

3) มีสถานะหรืออำนาจต่อรองทางการเมืองและสังคม ต่ำกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ รวมทั้งคนที่สังคมมีอคติหรือความเชื่อที่กีดกันพวกเขาให้ไม่ได้รับสิทธิเสมอภาค เช่น เป็นชนชาติส่วนน้อย, คนในชุมชนแออัด, คนอยู่ชนบทห่างไกล, คนอพยพ, คนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน, ผู้หญิง (โดยเฉพาะผู้หญิงที่ยากจนหรือการศึกษาต่ำ), คนที่มีอาชีพที่สังคมถือว่าต่ำต้อย ฯลฯ

4) คนที่ไม่มีสิทธิหรือโอกาสที่จะได้รับบริการขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา โอกาสในการประกอบอาชีพ, บริการทางสาธารณสุข และบริการอื่น ๆ ทัดเทียมกับคนอื่น ๆ เช่น เป็นคนพิการ คนบ้า, คนป่วยเรื้อรัง, คนชรา, เด็กกำพร้า ที่ไม่มีญาติพี่น้องดูแล หรือมีญาติพี่น้องบ้างก็ยากจน เด็กเร่ร่อน ฯลฯ

 3.2 เงื่อนไขหรือที่มาของความยากจน

1) ไม่มีปัจจัยการผลิตและปัจจัยการยังชีพที่เหมาะสม เช่น ไม่มีที่ดิน, ที่ดินไม่ดี ขาดน้ำ ไม่มีเงินทุน ไม่มีอุปกรณ์การผลิตของตนเอง ต้องกู้หนี้ยืมสิน ต้องเช่า ต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำ ผลตอบแทนต่ำ การบริโภคต้องซื้อมากขึ้น ไม่มีป่า, ทะเล, สภาพแวดล้อมที่จะหาอาหารจากธรรมชาติหรือผลิตเองได้เหมือนในอดีต

2) ไม่ได้รับการศึกษาอบรมชนิดที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต การมีงานทำและวิถีชีวิตที่เหมาะสม ส่วนใหญ่คือ หัวหน้าครอบครัวได้รับการศึกษาต่ำ ระดับลูกหลานที่ได้รับการศึกษาสูงขึ้นมาหน่อย ก็มักเป็นการศึกษาแบบสามัญที่ใช้แก้ปัญหาหรือสร้างงานให้ตัวเองไม่ได้ หากไม่มีใครจ้าง

3) เป็นผู้เสียเปรียบจากระบบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด การเปลี่ยนวิถีการผลิตจากการปลูกข้าวและทำเกษตรผสมผสาน เพื่อกินเพื่อใช้มาปลูกพืชเดี่ยวเพื่อขาย ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ได้ผลตอบแทนต่ำ เพราะระบบพ่อค้าผูกขาด, การเป็นหนี้เรื้อรัง และเสียดอกเบี้ยสูง การเสียเปรียบในเรื่องซื้อแพงขายถูก
4) เป็นผู้เสียเปรียบจากระบบความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอำนาจนิยม การเล่นพวก และการนับถือเงินเป็นพระเจ้า คนจนผู้มักจะมีความรู้น้อย อำนาจต่อรองน้อย ยิ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบง่ายแทบทุกด้าน พวกเขาต้องจ่ายค่าบริการแพงกว่าคนอื่น ต้องจ่ายภาษีเถื่อน หรือค่านายหน้าให้กับผู้มีอำนาจมากกว่า และจ่ายภาษีทางอ้อมคิดเป็นสัดส่วนต่อรายได้สูงกว่าคนอื่น ๆ
5) เป็นผู้เสียเปรียบและพ่ายแพ้ในระบบโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมแบบทุนนิยมใหม่ ทั้งในด้านการผลิตและการบริโภค เช่น ทำงานแข่งขันในระบบทุนนิยมสู้เขาไม่ได้ เพราะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กกว่า, มีทุนน้อยกว่า, มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการผลิตการตลาดน้อยกว่า ต้นทุนสูงกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า ล้มละลาย, ขาดทุน, ตกงาน ฯลฯ หรือในด้านการใช้ชีวิต การบริโภคก็ปรับตัวไม่เป็น ไม่รู้จักอดออม บริโภคสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เหล้า บุหรี่ การเล่นหวย และการพนันอื่น ๆ ซื้อสินค้าเงินผ่อนหรือเป็นหนี้หลายต่อ แบบหมุนเงินไปใช้วัน ๆ ทำให้เสียดอกเบี้ยสูง ค่าใช้จ่ายในการบริโภคสูง โดยไม่คุ้มค่า การเสียเปรียบและพ่ายแพ้ในเชิงโครงสร้างเช่นนี้เป็นการซ้ำเติมให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งจนซ้ำซากเรื้อรัง อย่างไม่มีทางออก

6) เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่ตกงาน, ชราภาพ, พิการ เป็นเด็กที่ไม่มีคนดูแลที่เหมาะสม, เป็นหม้าย เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลลูกหลานมาก ฯลฯ โดยไม่มีงาน, ทุนทรัพย์ ความสามารถที่จะหางาน, รายได้, หรือความช่วยเหลือเพียงพอแก่การยังชีพในเกณฑ์มาตรฐาน


4. แนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน

เนื่องจากปัญหาความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมผูกขาดที่ด้อยพัฒนา ไม่ใช่แค่เรื่องการที่ประชาชนยังมีการศึกษาต่ำหรือรายได้ต่ำ ฯลฯ เท่านั้น การจะแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ผล ต้องแก้ไขเงื่อนไขของความยากจนทั้ง 6 ข้อ ให้ได้อย่างเชื่อมโยงกันทั้งระบบโครงสร้าง ไม่ใช่แค่ทำโครงการเป็นส่วน ๆ เช่น พักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารคนจน ฯลฯ ซึ่งจะแก้ปัญหาได้เพียงเฉพาะหน้าสั้น ๆ อาจช่วยได้เฉพาะบางคน แต่ไม่อาจแก้ปัญหาคนจนได้ทั้งหมด


สิ่งที่จะต้องทำคือ

1) ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม เช่น การปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูปการเกษตร การปฏิรูประบบการคลัง การเงิน การภาษีอากร เพื่อเก็บภาษีคนรวย ไปช่วยพัฒนาคนจน การปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สื่อสารมวลชน ปฏิรูปทางการเมือง และปฏิรูปทางสังคมด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดโครงสร้างการเป็นเจ้าของและการควบคุมปัจจัยการผลิตใหม่ ที่มีความเป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย และมีประสิทธิภาพ เน้นการพัฒนาระบบสหกรณ์, องค์กรของชุมชน, บริษัทมหาชน การแข่งขันเสรีแทนระบบทุนนิยมผูกขาด

2) เปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศ จากที่เน้นการพึ่งพาการลงทุนและการค้ากับ ต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงเกินไป มาเน้นการพัฒนาคน การจ้างงาน การพัฒนาทรัพยากร และตลาดภายในประเทศ และเลือกลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ เฉพาะที่จำเป็นและคนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เปลี่ยนนโยบายจากที่เคยเน้นความเติบโตของสินค้าบริการของประเทศโดยรวม มาเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนส่วนใหญ่

3) พัฒนาระบบประกันสังคม, สวัสดิการสังคมในระดับประเทศ และสวัสดิการชุมชนในระดับท้องถิ่น ให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมถึงคนทุกส่วนในสังคม

  
แนวทางแก้ไขปัญหาคนจนอย่างยั่งยืน
           
          ปัญหาคนจน เป็นปัญหาที่สะท้อนความล้มเหลวของนโยบายและรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศ
 เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะการพัฒนาที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากขึ้น 
ทำให้เกิดคนจนเพิ่มขึ้น มีส่วนสำคัญทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ และยังไม่สามารถฟื้นฟูแก้ไขได้
 มีการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ธนาคาร
โลกและสภาพัฒน์ฯ ใช้เกณฑ์เส้นความยากจน หรือรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนที่คนเราสามารถใช้หา
อาหารและสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ(ที่อยู่, ยา, เสื้อผ้า)ได้เพียงพอ โดยคำนวณว่า คนที่มี
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 886 บาทในปี 2542 ถือว่าเป็นคนจน และวัดออกมาว่าคนจนร้อยละ 15.9 
ของคนทั้งประเทศ จำนวนคน 9.9 ล้านคน (ร้อยละ 60 อยู่ในภาคอีสาน, ร้อยละ 71.5 เป็นเกษตรกรและ
แรงงานภาคเกษตร)  
           การวัดแบบนี้ทำให้ได้ตัวเลขคนจนทั้งประเทศที่ต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง ทั้งในแง่ที่ว่า 
กำหนดเส้นความยากจนต่ำกว่าเกินไป (ค่าแรงขั้นต่ำยังอยู่ที่ 133-165 บาท ต่อวัน หรือในราว 3,990 - 4,950 
บาทต่อเดือน) และในแง่ที่ว่าการมองเฉพาะตัวรายได้เป็นการมองแคบเกินไป ต้องมองแง่รายจ่าย
แง่หนี้สิน, แง่การขาดที่ทำกิน หรือปัจจัยการผลิต, ขาดการศึกษา, ข้อมูลข่าวสาร, ขาดสิทธิโอกาสที่
จะเข้าถึงบริการของรัฐบาล ขาดอำนาจต่อรอง ฯลฯ รวมทั้งคนจนในแง่สังคมการเมืองวัฒนธรรม
 ถ้าพิจารณาให้กว้าง คนจนคงมีมากกว่า 15.9% อย่างแน่ ๆ
           วิธีการวัดความยากจนแบบรายได้พอยังชีพเป็นเกณฑ์ อ้างว่า หลังจากมีการวางแผนการพัฒนา
เศรษฐกิจแบบ(ทุนนิยม)สมัยใหม่ ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา ทำให้สัดส่วนของคนยากจนลดลงตามลำดับ 
จากที่เคยมีคนยากจน ถึง 57.0% ของคนทั้งประเทศ ในปี 2506/07 มาเหลือเพียง 11.4% ของคนทั้งประเทศ 
ในปี 2539 (และมาขยับเพิ่มนิดหน่อยหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 คือ คนจนเพิ่มเป็น 13.0% 
ในปี 2541 และ 15.9% ในปี 2542)
           คำอธิบายเรื่องทิศทางใหญ่ที่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่ ในรอบ 31-32 
ปีที่ผ่านมา ทำให้คนจนลดลง น่าจะผิดพลาด เพราะจริง ๆ แล้วยิ่งพัฒนาแบบทุนนิยมผูกขาดและทุนนิยม
บริวารมากเท่าไหร่ การกระจายทรัพย์สินและรายได้ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ กลับไม่เป็นธรรมสูงขึ้น
 ดังจะเห็นได้ว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 20% แรกของประเทศที่เคยมีสัดส่วนในรายได้ 49.3% ของคน
ทั้งประเทศในปี 2518 นั้นได้มีสัดส่วนในรายได้ของประเทศเพิ่มเป็น 58.5% ในปี 2542 ขณะที่คน 80%
มีสัดส่วนในรายได้ของประเทศลดลงในช่วงระยะเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะคน 40% หลังมีสัดส่วน
ในรายได้เพียง 10.9% ของคนทั้งประเทศ คนกลุ่ม 40% ที่มีรายได้ต่ำสุดนี้น่าจะจัดเป็นคนจน การวัด
ความยากจนในเชิงเปรียบเทียบจะยิ่งเห็นได้ชัดว่าคนจนมีมากขึ้น คน 80% ของประเทศในปี 2542 
มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 3,508 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศที่ต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ
เสียอีกด้วยซ้ำ
           ธนาคารโลกและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก อธิบายว่า ความยากจนเกิดจากการที่ประชาชน
ยังไม่ได้เข้าสู่การพัฒนาแบบตลาด (การผลิตเพื่อขายในระบบทุนนิยม)อย่างเต็มตัว หรือยังขาด
ความรู้ความสามารถที่จะแข่งขันในตลาด และทางแก้ไขปัญหาความยากจน คือ จะต้องช่วยให้คน
จนกู้เงินไปลงทุนได้มากขึ้น ต้องพยายามเพิ่มผลผลิต เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน คำอธิบายเช่น
นี้เป็นการมองด้านเดียวที่ไม่น่าจะแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
           คนไม่ได้จนเฉพาะในเชิงรายได้เท่านั้น แต่ยังจนในแง่การไม่ได้เป็นเจ้าของ, ผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต 
 และความรู้ และมีสถานะทางการเมืองและสังคมต่ำ มีสิทธิและโอกาสได้รับบริการทางการศึกษา
สาธารณสุข, บริการอื่น ๆ ต่ำอีกด้วย  คนไทยจำนวนมากเพิ่งมาจนลงในระยะ 40-50 ปีมานี้ สาเหตุใหญ่ก็คือ
 นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่การแข่งขันไม่เป็นธรรมสูง ทำให้ชาวบ้านและชุมชน
เลิกผลิตแบบผสมผสานเพื่อกินเพื่อใช้ หันไปปลูกพืชเดี่ยวเพื่อขาย ในช่วงแรกๆ พวกเขามีรายได้เป็นตัวเงิ
นเพิ่มขึ้น แต่จริง ๆ แล้วกลับมีรายจ่ายเพิ่มสูงกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดหนี้เรื้อรัง และยากจนมากกว่าในอดีต
 ซึ่งยังเป็นสังคมเกษตรแบบพอกินพออยู่หรือเศรษฐกิจพอเพียง
           เราไม่อาจแก้ปัญหาความยากจนให้ทุกคนได้ภายใต้กรอบคิดเดิม คือ ยิ่งพัฒนาระบบทุนนิยมมากขึ้น
 จะแก้ได้เฉพาะคนส่วนน้อยที่ชนะการแข่งขัน เพราะทรัพยากรมีจำกัด การเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิต
ก็ทำได้จำกัด และกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย เมื่อมีคนชนะก็ต้องมีคนแพ้ การที่คนจนลงก็เพราะคนส่วนหนึ่ง
รวยขึ้น ในอัตราที่สูงเกินไป ทางแก้ไขปัญหาความยากจนยุคใหม่จึงต้องคิดถึงทางเลือกอื่น คือเปลี่ยนวิธีการ
ผลิตแบบพึ่งพาตลาด พึ่งพาเงินมากเกินไป กลับมาเป็นการพึ่งพาตนเองแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็
นสัดส่วนสูงขึ้น ลดการพึ่งพาและการเสียเปรียบในระบบตลาดลง ลดการบริโภคฟุ่มเฟือยลง ฟื้นฟู
ธรรมชาติและสมบัติสาธารณะใหม่ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง และพัฒนาองค์กรชุมชนให้สามารถช่วยเหลือ
สมาชิกในชุมชนได้มากขึ้น
           แนวทางการแก้ปัญหาคนจน ที่รัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเสนออยู่ในเวลานี้คือ จะต้อง
กระจายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือแบบพึ่งตลาด ไปสู่ประชาชนให้ทั่วถึงมากขึ้น เช่น
การพักหนี้เกษตรกร, ตั้งธนาคารประชาชนให้คนจนกู้ได้มากขึ้น, การใส่เงินทุนเงินให้กู้ในหมู่บ้าน
การเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อขาย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ พัฒนาระบบตลาด พัฒนาระบบ
การศึกษา สาธารณสุข ประกันสังคม ตามแบบประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ฯลฯ จะเป็นประโยชน์ต่อคน
บางกลุ่มบางคน เช่น นายทุน นายธนาคาร ผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่าคนทั่วไป เพราะเป็นการแก้ปัญ
หาภายใต้กรอบโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมแบบเดิมที่เอื้อต่อกลุ่มอภิสิทธิชน การคอรัปชั่น
 และปัญหาความด้อยประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งสภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจสังคมไทย
ในปัจจุบันที่จะไม่สามารถจะไปแข่งขันสู้กับทุนนิยมโลกแบบเปิดเสรีล่อนจ้อน ส่งแข่งทุกประเภทได้
อย่างแท้จริง
           นโยบายการปัญหาคนจนของรัฐ จะทำประโยชน์ให้กับคนจำนวนหนึ่งและสั้น ๆ เพราะไม่ได้
ปฏิรูปผ่าตัดโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ มุ่งใส่เงินเข้าไปเหมือนการตามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่มี
โครงการปฏิรูปโครงสร้างกรรมสิทธิที่ดิน, ทุน, ปัจจัยการผลิตอื่น ๆให้เป็นธรรม เป็นประชาธิปไตย
 และมีประสิทธิภาพ อย่างจริงจัง เช่น คิดแต่จะใช้เงินภาครัฐไปช่วยทั้งคนจนและคนรวย (อุ้มธนาคารผ่าน
กองทุนฟื้นฟูธนาคาร ซึ่งใช้เงินมากกว่าที่ช่วยคนจนหลายสิบเท่า) แต่ไม่คิดเรื่องการปฏิรูประบบภาษีเพื่อหา
เงินจากคนรวยมาช่วยคนจน ไม่คิดเรื่องการหารายได้เข้ารัฐจากการปฏิรูประบบการให้สัมปทาน และรัฐวิสาหกิจ
ต่าง ๆ อย่างถึงรากถึงโคน และไม่ได้คิดเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างการเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต
(ที่ดิน, ทุน, เทคโนโลยี, การตลาด ฯลฯ) อย่างแท้จริง
           คนจำนวนมากจนจริงมีชีวิตความเป็นอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน ที่เราจำเป็นต้องยกระดับ แต่คน อีกส่วนหนึ่ง
จนในทางความรู้สึก เพราะถูกครอบงำทางความคิดให้อยากร่ำรวย อยากบริโภค อยากเสพสุขมากขึ้น
 พวกเขาจึงดิ้นรนแข่งขันในการบริโภคและเป็นหนี้สินมากขึ้น การช่วยให้พวกเขากู้เงินมากขึ้น มีรายได้เพิ่ม 
คงไม่มีวันพอที่จะแก้ไขได้ และมีโอกาสจะทำให้เขาเป็นหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า
           ทางแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน จึงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ ต้องแก้ไขที่ค่านิยม วิถีการผลิต
 การบริโภคของคนด้วย การพัฒนาประเทศควรมุ่งไปสู่การผลิตแบบสหกรณ์, และบริษัทที่มหาชนเป็นเจ้า
ของและผู้ควบคุมจริง ๆ เน้นการที่ผลิตปัจจัยสี่และปัจจัยจำเป็น และการกระจายให้เป็นธรรม เน้น
การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้ชีวิต มากกว่าการบริโภคสูงสุด เน้นความพึงพอใจหรือความสุข
แบบสันโดษ แบบทางสายกลาง บริโภคให้น้อยลง เฉพาะสิ่งที่จำเป็น ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย โดยไม่ต้องพึ่งเงิน
มากนัก ส่งเสริมการศึกษา, สื่อมวลชน วัฒนธรรมที่จะบ่มเพาะให้คนลดการเห็นการแก่ตัวลง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
มากขึ้น สังคมจึงจะแบ่งปันทรัพยากรที่มีจำกัดได้ทั่วถึง ไม่เอาเปรียบกันและกัน และไม่ทำลายเบียดเบียน
ธรรมชาติมากเกินไป
           สรุปก็คือ การจะแก้ปัญหาความยากจนเพื่อคนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืนไม่อาจแก้ได้ โดยการพัฒนาตาม
แนวทางทุนนิยมผูกขาด เพราะโครงสร้างทุนนิยมโลกปัจจุบันเป็นโครงสร้างทุนนิยมผูกขาดแบบแข่งขัน
ไม่เป็นธรรม หากจะต้องพัฒนาทางเลือกใหม่ คือ เลือกแข่งขันในส่วนที่เราพอแข่งขันได้ และกลับ
มาพัฒนาเศรษฐกิจแบบพอเพียงระดับประเทศมากขึ้น นโยบายนี้จะทำได้ต้องการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจ 
 การเมือง สังคม วัฒนธรรม ในแนวทางเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ, สังคมนิยมประชาธิปไตย และการอนุรักษ์
ระบบนิเวศน์ แนวทางเลือกใหม่นี้จะเป็นทางที่จะลดปัญหาความยากจนได้ยั่งยืนกว่าการแข่งขันกันผลิต
 แข่งขันกันบริโภค ในระบบทุนนิยมผูกขาดแบบแข่งขันไม่เป็นธรรม และไม่เสรีจริงในปัจจุบัน

อ้างอิง  : http://www.baanjomyut.com/library_2/development_of_society/29.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น